September 23, 2021 SEO

Emotional Content: 9 ข้อที่เปลี่ยนคอนเทนต์ธรรมดาให้อ่านแล้ว “อิน” กว่าเดิม !

by admin

เมื่อคุณอยากสร้าง Content ที่ดีกว่าเดิม แต่ไอเดียที่เขาว่าเจ๋ง ๆ ก็ทำไปหมดแล้ว?! งั้นมาลองใช้ Emotional content หรือคอนเทนต์ที่ทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกร่วมกัน เพราะเรื่องอารมณ์และความรู้สึกเป็นหัวใจสำคัญ ที่ช่วยให้ลูกค้าจดจำและเชื่อมต่อกับแบรนด์ทางจิตใจ จนเกิดการรับรู้ กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมและความต้องการซื้อสินค้าได้อย่างน่าทึ่ง

อารมณ์และความรู้สึก 9 ข้อที่เอามาใช้ได้มีอะไรบ้าง ?

1. ความเป็นฮีโร่ : ใช้ประวัติของแบรนด์เล่าเรื่องราว

การเล่าประวัติของแบรนด์เป็นจุดเริ่มต้นง่าย ๆ แต่มักดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะถ้ามีการเพิ่มบท “ฮีโร่” ของแบรนด์เข้าไปช่วยต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ของลูกค้าได้ หรืออีกมุมมองหนึ่ง อาจให้ลูกค้ากลายเป็นฮีโร่ แล้วแบรนด์ของคุณเป็นผู้ช่วยเหลือเขาให้ประสบความสำเร็จ นั้นก็ยิ่งทำให้เรื่องราวของแบรนด์ดูน่าดึงดูดมากขึ้น

2. ความกลัว : ใช้ประโยชน์จาก Fear of Missing Out (FOMO)

FOMO หรือความกลัวที่จะพลาดโอกาส เพราะไม่มีใครอยากพลาดเรื่องราวดี ๆ และกลัวจะกลายเป็นคนที่ไม่สำคัญ สิ่งนี้จึงสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยการสร้างความรู้สึกวุ่นวายใจหรือเร่งรีบให้กับลูกค้า เพื่อกระตุ้นให้เขาอยากมีส่วนร่วม เช่น โปรโมทสินค้ารุ่นลิมิเต็ด เสนอสิทธิพิเศษในเวลาที่จำกัด หรือเรื่องการเป็นสมาชิกที่จะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าลูกค้าทั่วไป

3. ความรู้สึกพิเศษ : ถ่ายทอดให้เห็นว่าใช้สินค้าแบรนด์เรา เขาจะพิเศษกว่าคนอื่น

ความรู้สึกที่ต้องการความพิเศษ หรือความเป็นเอกลักษณ์ ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดการตัดสินใจซื้อได้ ซึ่งเทคนิคการทำให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษเมื่อใช้แบรนด์เรานั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับตั้งแต่สินค้าแบบ Low Involvement ที่ไม่ต้องใช้เหตุผลในการเลือก แต่จะเน้นมองหาโปรโมชั่นพิเศษ เช่น เสื้อผ้า จนถึงสินค้าแบบ High Involvement ที่มีราคาสูงและต้องใช้เหตุผลในการซื้อ อย่าง รถยนต์  

4. ความเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม : สร้างสิ่งที่เชื่อมคนให้ผูกติดกับแบรนด์

ปัจจุบันผู้คนต่างต้องการเป็นที่ยอมรับและมีความสำคัญในสังคม การสร้าง Content แบบที่ทำให้ผู้คนรู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จึงช่วยดึงผู้บริโภคให้มีร่วมส่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การนำเสนอว่าแบรนด์เปรียบเสมือนชุมชนหรือกลายเป็นไลฟ์สไตล์แทนที่จะเป็นแค่เพียงธุรกิจ เช่น แบรนด์ Apple ที่นำเสนอให้เห็นถึงความเป็นชุมชนที่หรูหรา ฉีกกรอบ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง หลายคนเลยคิดว่าการใช้ Apple ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองออกมา

5. ความรู้สึกสงสัย : โดยการตั้งคำถามจะยิ่งทำให้น่าค้นหามากขึ้น 

พอพูดถึงคำถาม ? ผู้คนก็ต่างอยากรู้คำตอบเหล่านั้น ดังนั้นการใช้ชื่อหัวข้อเป็นคำถาม ก็มักนำคนที่สงสัยเรื่อง ๆ นั้น เข้ามา “คลิก!” เพื่อหาคำตอบได้อยู่เสมอ พร้อมทั้งยังเพิ่มความลึกลับชวนให้ผู้อ่านที่บังเอิญผ่านมาเจอคำถาม ได้รู้สึกตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็นและสนใจตามเข้ามาหาคำตอบเพิ่มอีกด้วย 

6. ความปรารถนา : สัญญาว่าจะช่วยให้ลูกค้าไปถึงเป้าหมาย

ผู้คนส่วนใหญ่จะผูกติดเป้าหมายไว้กับเรื่องความปรารถนา ความกลัวและการทำให้ตัวเองมีคุณค่า เราจึงควรเสนอ Content ที่เป็นตัวช่วยให้ลูกค้าไปถึงเป้าหมายเหล่านั้น แล้วเขาจะมองว่าคุณเป็นเหมือนเพื่อนและพันธมิตร จนนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์
แต่สิ่งสำคัญที่สุด… ต้องรู้ก่อนว่า Target ของแบรนด์คุณเขาต้องการอะไร ? หรือส่วนใหญ่เขามีเป้าหมายเกี่ยวกับเรื่องอะไรกัน

7. อารมณ์ขัน : เพิ่มเรื่องสนุกสร้างความคึกคัก

การตลาดไม่จำเป็นต้องทำให้จริงจังตลอดเวลา เรื่องที่สนุก ขำและให้เสียงหัวเราะเป็นวิธียอดเยี่ยม ที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์กับใครบางคนได้อย่างรวดเร็ว และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ได้ด้วย เพราะฉะนั้นหากช่วงนี้ Content เริ่มรู้สึกแบน ๆ เรียบ ๆ ก็ลองใช้เรื่องตลกสัก 2 - 3 เรื่องมาดึงความสนใจจากลูกค้าดูนะ
(!) ต้องจำไว้ว่า แม้ว่าการมีอารมณ์ขันจะมีประโยชน์ แต่มันก็ควรใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ด้วย

8. ความรู้สึกประหลาดใจ : เปิดมุมมองความเชื่อใหม่ให้ลูกค้า 

หาก Content ของคุณดูซ้ำกับของคนอื่นและไม่น่าจดจำมากพอ ให้ลองเพิ่มองค์ประกอบเรื่องความประหลาดใจเข้าไป เพราะการท้าทายความคิดของใครบางคนหรือเปลี่ยนความเชื่อในประเด็นของเขา ถือเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการทำให้เขาจดจำแบรนด์ได้ เช่น ใช้เรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของเรา หรือความจริงที่ใคร ๆ รู้แล้วก็ต้องตกใจ

9. ความรู้สึกร่วมในวัฒนธรรม : โดยการใส่ Pop Culture

การใช้ Pop Culture นั้นหมายถึง การใช้พวกสื่อบันเทิงดัง ๆ เช่น หนัง เพลงฮิต หรืออะไรที่เป็นกระแสในสังคมตอนนี้ ซึ่งจากผลวิจัยของการใช้ Pop Culture ในแคมเปญการตลาดมีความประสบความสำเร็จมากที่สุดถึง 28% Pop Culture จึงช่วยทำให้ Content เป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับคนจำนวนมาก เพราะมันสร้างความรู้สึกร่วมกับพวกเขาได้เป็นอย่างดี เช่น Google ใช้ภาพยนตร์สุดคลาสสิกเรื่อง Home Alone ในการโปรโมท Google Assistant

เรื่องที่กระตุ้นให้เกิด Emotion หรืออารมณ์ความรู้สึกร่วม ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวก เช่น ความสนุกสนาน ความพิเศษและการเป็นชุมชน หรือเชิงลบ เช่น ความวิตกกังวลและความกลัวที่จะพลาดโอกาส ถ้านำมาใช้ในการสร้าง Content อย่างถูกจุด คุณก็สามารถทำให้ Content น่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จนอาจกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของแบรนด์อีกด้วย ลองนำไปปรับใช้กันดูนะ แล้วคุณจะแปลกใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ที่มา Search Engine Journal

บทความที่เกี่ยวข้อง
Instagram Story เครื่องมือทรงพลัง ที่นักการตลาดต้องใช้ ถ้าอยากเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภค (8 Case Studies)
5 ไอเดีย ทำแคมเปญบน Instagram ง่าย ๆ ที่กระตุ้นยอดขาย เพิ่ม Engagement ได้อย่างไม่น่าเชื่อ [วงการอาหารและเครื่องดื่ม]